จากศาสตร์ของลมหายใจแห่งสติ …สู่โปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร

1252

        เมื่อไม่นานนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจได้ยินหรือได้อ่านเรื่องราว “ทฤษฎีแมลงสาบ” ที่ถูกแชร์กันอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระแสโด่งดังในสื่อsocial มาระยะหนึ่งแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นก็คงเพราะผู้กล่าวทฤษฎีนี้ไว้คือบุคคลซึ่งโลกกำลังจับตามอง  เขาคือ Sundra Pichai …ซีอีโอคนล่าสุดชาวอินเดียของGoogle บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนั่นเอง ใจความสำคัญของทฤษฎีนี้ก็คือ การบอกว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องของการตอบโต้(react) แต่เป็นการตอบสนอง(respond) และในการตอบสนองนั้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการไตร่ตรองหรือการคิดใคร่ครวญมาอย่างดีแล้ว แน่นอนว่า Sundra Pichai ได้ใช้สิ่งนี้เพื่อพัฒนาตนเองมาตลอด และอาจไม่ต้องสงสัยว่าเขาจะยังคงใช้มันเพื่อการทำงานและเพื่อการพัฒนานำ Google ต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้าด้วยหรือไม่

        หากทบทวนทฤษฎีนี้อย่างลึกซึ้ง จะพบว่ามีนัยหนึ่งที่ซ่อนไว้แม้ซีอีโอ Sundra ไม่ได้กล่าวถึงออกมาตรงๆ นั่นก็คือความจำเป็นของการมีเครื่องมือสำคัญที่ชื่อว่า ‘สติ’ นั่นเอง และเมื่อย้อนหลังกลับไปอีกกว่า2500 ปี ความรู้เรื่องนี้ก็คือมรดกทางปัญญาที่สำคัญชิ้นหนึ่งในทางพุทธธรรมหรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของสติและสมาธิหรือ Mindfulness นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันความรู้ทางจิตแบบตะวันออกนี้ได้ถูกส่งผ่านในเชิงจิตวิทยาและความเป็นวิทยาศาสตร์จนเกิดเป็นกระแสและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมตะวันตก  เริ่มจากชีวิตประจำวัน…สู่การพัฒนาสังคม กล่าวคือใช้ Mindfulness เป็นเครื่องมือของการสร้างและพัฒนาคนหรือบุคลากรในระบบต่างๆของสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา ยุติธรรม การวิจัย ด้านธุรกิจทั้งในส่วนขององค์กรธุรกิจและองค์กรรัฐ  ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันหรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันก็เข้าไปช่วยตอบโจทย์เกี่ยวกับปัญหาความเครียดสะสมทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ตอบโจทย์ในเรื่องของการให้คุณค่าของความดีงามและจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ซึ่งนำไปสู่การค้นพบคุณค่าและความสุขที่ยั่งยืนทั้งในแง่ ความเป็นปัจเจกและความเป็นสังคมที่สมบูรณ์

      ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน แม้ด้วยความเป็นพุทธซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศจะเข้าใจดีอยู่บ้างในเรื่องของสติและสมาธิโดยมีวัดทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านนี้โดยตรงกับผู้คน  แต่เพราะสังคมเราเปลี่ยนไป ผู้คนไกลวัดมากขึ้นและบางครั้งวัด(บางแห่ง)เองก็ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น วิถีชีวิตของเราถูกเปลี่ยน…กลายเป็นสังคมเมือง  เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันถูกใช้ไปในที่ทำงานหรือองค์กรที่แต่ละคนสังกัดอยู่--ซึ่งแม้จะเป็นสังคมย่อยแต่ก็เป็นสังคมหลักที่สำคัญและมีความหมายมากต่อการบ่มเพาะความสุขและความทุกข์  ความเครียดและความรื่นรมย์ใจในชีวิตคนๆ นั้น ประกอบกับการทำงานในปัจจุบันที่แต่ละองค์กรล้วนมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ ความสำเร็จ คุณภาพและประสิทธิภาพ จึงยิ่งเพิ่มแรงกดดันทั้งกับตัวผู้บริหารเองและในหมู่คนทำงาน    บ่อยครั้ง…พบว่าขณะที่ผลลัพธ์สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ องค์กรมีการขยายใหญ่แต่กลับน่าประหลาดใจที่คนทำงานขององค์กรนั้นกลับมีความสุขในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

     ที่ทำงานหรือองค์กรจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง… ที่ๆ รวมความหมายของความสุขทั้งปลายทางและระหว่างทางของชีวิตเราเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่อาจปฏิเสธไปเสียแล้ว

     ด้วยความจริงที่ปรากฏในสังคมและด้วยความรับผิดชอบโดยตรงของกรมสุขภาพจิตในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการดูแลและรักษาคุณภาพจิตใจ สร้างสุขและเจือจางทุกข์ที่เกิดขึ้นของคนในประเทศ จึงมีการคิดและจัดทำโครงการหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องและสามารถตอบโจทย์กับแนวโน้มของสังคมไทยที่กำลังเดินไปสู่วิถีของความเป็นองค์กรมากขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ ผลักดันให้พลังของสติและสมาธิหรือMindfulnessนี้เข้มแข็งและงอกงามจนผนวกวิถีชีวิตให้เป็นเนื้อเดียวกันกับการทำงาน  ขณะเดียวกันทำให้ความสำเร็จขององค์กรและความสุขที่ยั่งยืนของคนในองค์กรทุกระดับเป็นสิ่งที่สามารถเดินไปพร้อมๆกันได้   โครงการดังกล่าวนี้มีชื่อว่าโครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร  หรือเรียกสั้นๆว่าโครงการMIO (Mindfulness in Organization)

    เป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากขณะนี้มีองค์กรที่มีวิสัยทัศน์หลายแห่งเริ่มมองเห็นว่าการสร้างความสุขในที่ทำงานเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจหรือการประกอบการ ซึ่งต่างก็มีแนวทางในการจัดการที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบขององค์กรนั้น โปรแกรมการสร้างสุขด้วยสติในองค์กรหรือ MIO นี้  นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีหลายองค์กรได้เลือกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานรวมถึงการบริหารจัดการองค์กรตนเองโดยอาศัยจุดแข็งของโปรแกรมที่มีความเป็นสากล แม้จะนำเอารากฐานของพุทธธรรมเข้ามาผสมผสานแต่ก็พัฒนาและปรับใช้ให้กว้างขวางขึ้นโดยไม่ถูกจำกัดด้วยความเป็นศาสนา เพราะเหตุนี้โปรแกรม MIO จึงสามารถขับเคลื่อนคนในองค์กรได้ทุกระดับชั้นและในต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำเพราะใช้เพียงเทคนิคการรู้ลมหายใจซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมี สามารถฝึกง่ายขณะที่ผลลัพธ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นปลายทางนั้นกลับสร้างมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและขยับไปไกลมากกว่าความสำเร็จในเชิงรูปธรรมเพียงเท่านั้น


      ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและเชี่ยวกรากของโลกปัจจุบัน คงไม่มีสิ่งใดที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้ได้อย่างเท่าทันและมีประสิทธิภาพเท่ากับการพัฒนาจิตหรือความสามารถเปลี่ยนแปลงการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง  Mindfulness in Organization (MIO) หรือโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสตินี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคนในองค์กรรวมทั้งคนในสังคมให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง  บทความในครั้งต่อๆ ไปจะคลี่คลายคำตอบของคำถามนี้


พิมพ์