สติและสมาธิ: เคล็ดลับความสุขในยุคดิจิทัล 🧘‍♀️💼

article002

 

สติและสมาธิ: เคล็ดลับความสุขในยุคดิจิทัล 🧘‍♀️💼

ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและการแข่งขัน การค้นหาความสุขที่แท้จริงกลายเป็นภารกิจสำคัญของคนยุคใหม่ 🌟 แต่คุณรู้หรือไม่ว่า กุญแจสำคัญสู่ชีวิตที่มีความสุขและสมดุลอาจอยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด? 🔑 นั่นคือ "สติ" และ "สมาธิ" นั่นเอง!

 

🌺 สติและสมาธิ: คู่หูมหัศจรรย์แห่งความสุข

ลองมาทำความรู้จักกับพลังคู่นี้กันดีกว่า:

- **สติ** 🧠: คือการรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่วอกแวก ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ
- **สมาธิ** 🧘: คือภาวะที่จิตสงบนิ่ง จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ทั้งสองนี้ทำงานร่วมกันเหมือนเพื่อนซี้ ช่วยให้เราจัดการกับชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 💪

 

🎯 ประโยชน์ที่คุณจะได้รับ

การฝึกสติและสมาธิไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป! มาดูกันว่าคุณจะได้อะไรบ้าง:

1. 🍽️ กินอย่างมีสติ ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น

2. 💳 ช้อปปิ้งอย่างมีสติ ประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น
3. 🏋️‍♀️ ออกกำลังกายอย่างมีสติ สนุกและได้ผลลัพธ์ดีกว่าเดิม
4. 😊 คิดบวกมากขึ้น สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ

 

💼 สติและสมาธิในที่ทำงาน: สูตรลับแห่งความสำเร็จ

ไม่ใช่แค่ชีวิตส่วนตัวเท่านั้น! การนำสติและสมาธิเข้ามาใช้ในที่ทำงานก็สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เช่นกัน:

- 😌 พนักงานมีความสุข ความเครียดลดลง
- 🤝 สัมพันธภาพในทีมดีขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น
- 🚀 ผลงานดีขึ้น องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

 

🌈 เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง

อยากลองแล้วใช่ไหม? เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธีนี้:

1. 🧘‍♂️ ฝึกนั่งสมาธิ 5 นาทีทุกเช้า
2. 🍃 หายใจลึกๆ ช้าๆ เมื่อรู้สึกเครียด
3. 🚶‍♀️ เดินอย่างมีสติ สังเกตสิ่งรอบตัว
4. 🍽️ ตั้งใจกับทุกคำที่ทานอาหาร

 

🌟 สรุป: ชีวิตที่ดีกว่าเริ่มต้นที่ตัวคุณ

การฝึกสติและสมาธิไม่ใช่เรื่องยาก และผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่ามากๆ! เริ่มต้นวันนี้ แล้วคุณจะพบว่าชีวิตที่มีความสุข สมดุล และประสบความสำเร็จนั้น อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป 🌈✨

แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าด้วยสติและสมาธิแล้วหรือยัง? เริ่มต้นง่ายๆ วันนี้ แล้วคุณจะขอบคุณตัวเองในอนาคตแน่นอน! 😊🙏

คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (2)

21080

“เ ร า ทุ ก ค น ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ พู ด
แ ต่ สิ่ ง ที่ ต้ อ ง ก า ร ม า ก ก ว่ า นั้ น
คื อ  ต้ อ ง ก า ร ค น ฟั ง”

          ว่ากันว่า…สิ่งสวยงามที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์คือการยอมรับและรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่นักจิตวิทยาบอกไว้ว่าหลักพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ข้อหนึ่งคือความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ และ'การฟัง’ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยกย่องหรือการให้เกียรติที่แต่ละคนสามารถแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้  ซึ่งคุณลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจิตใจของมนุษย์ได้รับการพัฒนาหรือยกระดับให้สูงขึ้น   ใจที่เปิดกว้างเพื่อรับฟังผู้อื่น…จึงเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งซึ่งสำคัญมากในการสื่อสาร

          แต่ในบรรดาทักษะทั้งหลายที่มีของคนเรา การฟังกลับคือตัวเชื่อมที่อ่อนที่สุดในระบบการสื่อสาร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีความไม่สมดุลเกิดขึ้นระหว่างความเร็วของการพูด (ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ในอัตรา125คำ/นาที) กับความเร็วของการฟังและการคิดตาม(ซึ่งอัตราอยู่ที่500คำ/นาที) .…นั่นหมายถึงมนุษย์เราสามารถฟังและทำความเข้าใจได้เร็วกว่าพูดถึง4เท่า  ช่องว่างตรงนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ฟังมีเวลาว่างระหว่างรอผู้พูด เป็นเหตุให้สมองหันเหความสนใจไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ ใจลอย เสียสมาธิ เก็บประเด็นไม่ครบถ้วนส่งผลให้เกิดความล้มเหลวที่จะฟังอย่างมีประสิทธิภาพตามมา

      

          และเมื่อมองออกมานอกตัว ปัญหาหลักในสังคมปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจาก"การไม่ฟังกัน" …ภายในครอบครัว พ่อแม่ไม่ฟังลูก ลูกไม่ฟังพ่อแม่ สามีภรรยาไม่ฟังกันฯลฯ ภายในชุมชนหรือองค์กร ภายในประเทศ ภายในโลก…ไม่มีใครยอมหยุดเพื่อฟังกัน แม้โลกเราจะล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมาก สามารถพูดคุยสื่อสารกันข้ามทวีปหรือกระทั่งข้ามดวงดาวกันได้แล้ว แต่เหลือเชื่อที่บ่อยครั้ง--คนในสังคมเดียวกันกลับพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่เข้าใจ   ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นละเลยหรือขาดการฝึกฝนในเรื่อง"การฟังอย่างลึกซึ้ง" (Deep Listening) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมากของทุกคนในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


 ...แล้วหลักการของ"การฟังอย่างลึกซึ้ง"หรือDeep Listeningนั้นเป็นอย่างไร ?

คำตอบที่เป็นเทคนิคง่ายๆคือ …//รู้ลมหายใจ....//ฟัง...//ใคร่ครวญ
เป็นการฟังอย่างตั้งใจและฟังเพื่อให้ได้ยิน มีการเฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆผ่านเข้ามากระทบ เป็นการฟังแบบ‘มนุษย์สัมผัสมนุษย์’  โดยละวางภาพลักษณ์ อำนาจ การครอบงำ ไม่ด่วนสรุปหรือวิพากษ์วิจารณ์คำพูด ความคิด และผู้พูด แต่จะฟังเพื่อให้ได้ยินทั้งความหมาย(meaning)ที่แท้จริงที่แต่ละคนต้องการสื่อ และความหมายที่คลี่(unfold)ออก มาจากการสนทนานั้น  ขณะเดียวกันก็‘วาง’ชุดความคิด 2 ลักษณะ คือความคิดโต้แย้งกับความคิดที่จะไปต่อยอดหรือความรู้สึกดีๆที่คนอื่นคิดเหมือนเรา พร้อมตระหนักถึงจุดยืนอื่นและการเข้าถึงได้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม—แม้ดูแล้วเหมือนไม่ใช่เรื่องยากแต่ทักษะต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นนิสัย  ซึ่งการฝึกสมาธิและสติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสนับสนุนให้เกิดทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น


          ในสังคมของการอยู่ร่วม ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เยียวยาความทุกข์ได้ชงัด คือการมีใครสักคนรับฟังอย่างจริงใจ สิ่งที่ดับอาการโกรธได้เด็ดขาด คือการที่อีกฝ่ายหยุดฟัง  และสิ่งที่ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่ คือการที่มีคนฟังเสียงของเขาอย่างตั้งใจ การฟังอย่างลึกซึ้งหรือDeep Listening…จึงเสมือนการเยียวยาทางจิตใจที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นคุณค่าที่เราได้มอบให้กับผู้อื่น องค์กร หรือสังคมที่เราอาศัย แต่สิ่งนอกเหนือไปกว่านั้นคือ คุณค่าที่สะท้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง ซึ่งได้แก่ความสุขสงบภายในใจ การหลุดพ้นจากความขัดแย้ง การด่วนตัดสินผู้อื่น หรือการยึดถือความคิดของตัวเองมากจนเกินไป
    
          ที่สำคัญ—'การฟังเป็น' จะทำให้เราคือ‘ชาที่ยังไม่เต็มถ้วย’ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่วยเปิดการเรียนรู้และสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น…ไม่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับใครหรือที่ใดก็ตาม

สติ & สมาธิ ...พลังขับเคลื่อนให้ชีวิตพบความหมายและความสุข

4745

          หาก‘ความสุข’ของชีวิต ถูกพูดถึงในความหมายที่ไม่ตื้นเขิน  ทุกคนย่อมเข้าใจตรงกันได้ว่า สภาวะจิตใจภายในของบุคคลย่อมมีผลมากกว่าสภาวะภายนอก ดังนั้นการที่คนเราจะเข้าถึงความสุขได้มากหรือน้อยจึงมาจากการฝึกฝนจิตใจของเขาเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่างๆที่เกิดขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการพัฒนาความสามารถในการค้นพบความสุขด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องมือเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นสากลและกำลังเป็นกระแสโลกอยู่ในขณะนี้ก็คือการพัฒนาจิตหรือMindfulnessโดยใช้การฝึกผ่านเทคนิคการรับรู้ลมหายใจ  


          นับเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่องค์ความรู้เรื่องการพัฒนาจิตหรือMindfulnessในประเทศไทยซึ่งหยั่งรากลึก ทำให้เราสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสติกับสมาธิได้อย่างชัดเจน   ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้ประโยชน์จากทั้งสองสิ่งจึงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เมื่อพิจารณาจากหลักการหรือกลไกตลอดจนเทคนิคต่างๆผ่านประสบการณ์จริงของการฝึกจะพบว่า สมาธิเป็นสภาวะที่จิตพักแต่เป็นการพักโดยรู้ตัวตลอดในขณะที่สติเป็นสภาวะที่จิตทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสภาวะที่แตกต่างกัน กลไกหรือวิธีการใช้ก็คนละแบบ โดยกลไกของสมาธิคือ…รู้ลมหายใจทั้งหมดเพื่อให้ความคิดหยุด ขณะที่กลไกของสติคือ…รู้ลมหายใจเพียงเล็กน้อย ให้ลมหายใจเป็นปัจจุบันและรู้ในกิจที่ทำทั้งกิจภายนอกและภายใน  ซึ่งสองสภาวะนี้ต่างเกื้อกูลกัน กล่าวคือเมื่อจิตออกจากสมาธิแล้วย่อมมีสติได้ง่ายในขณะที่การฝึกสติเป็นประจำก็จะช่วยให้ฝึกสมาธิได้โดยไม่ลำบาก

          เมื่ออ้างอิงผลลัพธ์ที่ได้เป็นรูปธรรม  ชีวิตเราจะค้นพบความหมายของเรื่องใกล้ตัวหลายๆเรื่องและแน่นอนมีความสุขมากขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น กินอย่างมีสติจะทำให้ไม่อ้วน ช็อปปิ้งอย่างมีสติจะทำให้เราใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง การมีสติจะช่วยให้เราออกกำลังกายหรือทำเรื่องยากๆได้อย่างรื่นรมย์ขึ้น เหนือสิ่งใด--การเรียนรู้เรื่องสติจะช่วยพัฒนาเราให้สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและที่สำคัญมีความคิดเป็นบวกมากขึ้นกว่าเดิม

     
          สังคมมนุษย์ถือเป็นสนามทดสอบสำคัญสำหรับจิตใจ การฝึกสติและสมาธินี้จะช่วยเปิดใจของผู้ฝึกนั้นให้กว้างขวางสู่ความสุขอันแท้จริงในใจตนเองซึ่งเป็นความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข  สงบและสมดุล มีความรัก ความเมตตา อคติลดลง เป็นจิตที่มีแรงบันดาลใจและมีความสร้างสรรค์


          มากกว่าการเป็นpersonal skillหรือทักษะส่วนตัว ใช่หรือไม่ว่า…จิตที่มีคุณภาพ ย่อมทำให้พวกเขาเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับการทำงานได้ดีด้วยเช่นกัน  ดังที่เราทราบว่ากว่าครึ่งชีวิตของผู้คนยุคนี้อยู่กับ‘งาน’ ดังนั้นหากบรรยากาศหรือภาพรวมของการทำงานนั้นเป็นที่มาของความเครียดและความคับข้องใจ นั่นเท่ากับว่า เราได้ทำชีวิตหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง   เมื่อ ‘งาน’กับ ‘ชีวิต’ไม่อาจแยกจากกันได้   โครงการ MIO (Mindfulness in Organization)หรือโครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร  จึงนำเรื่องสติและสมาธิมาใช้เป็นแกนหลักของหลักสูตรในการออกแบบ'วิถีการทำงาน'ในองค์กรต้นแบบขึ้นเพื่อให้ทุกวันของการทำงานเป็นการได้พัฒนาจิตไปพร้อมๆกัน  คนทำงานมีความสุข ลดความเครียด เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน  เพื่อที่สุดท้ายพบคำตอบว่างานเป็นสิ่งเติมเต็มชีวิตจริงๆ         
      

          พนักงานทุกคนคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด  องค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา'ศักยภาพด้านใน'ของบุคลากรย่อมช่วยให้เขาหรือเธอเหล่านั้นสามารถปลดปล่อยพลัง(passion)และศักยภาพ(potentials)ภายในตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่แล้วเชื่อมโยงพลังเหล่านั้นสร้างทีมงานที่แข็งแรงเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ซึ่งไปไกลกว่าความอยู่รอดและผลกำไร    สติและสมาธิจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ความสุขในระดับปัจเจกเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังมีพลังมากพอที่จะสร้างความสุขในระดับองค์กรและขยายต่อเนื่องไปสู่สังคมโลกในที่สุด

คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (1)

8563

          มีคำคมประโยคหนึ่งกล่าวไว้ว่า “คนฉลาด…ไม่ใช่ผู้ชนะการโต้แย้ง แต่คนฉลาดคือ ผู้ที่ออกห่างจากการโต้แย้งตั้งแต่เริ่มต้น” น่าสนใจว่า อะไร?
คือเครื่องมือที่ถูกหยิบมาใช้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวของผู้ฉลาดที่ว่านี้

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเครื่องมือสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของการอยู่ร่วมกันระหว่างพวกเราก็คือการสื่อสาร  ด้วยเพราะองค์ประกอบสำคัญบางอย่างภายในสมอง ทำให้มนุษย์มี ‘ต้นทุนพิเศษ’ ที่แตกต่างจากสัตว์อื่นๆในโลก  สิ่งนั้นคือความสามารถในการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาจิตหรือการฝึกสมาธิและสตินั่นเอง หากต้นทุนดังกล่าวนี้ถูกนำไปผนวกเข้ากับทักษะการดำรงชีวิตในด้านต่างๆแล้ว ก็จะยิ่งเติมเต็มคุณภาพในการทำงาน ช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพและความสุขในการดำเนินชีวิตได้  

       
          โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงหลักพื้นฐานของการสื่อสาร จะพบว่าทุกคนเป็นคู่สื่อสารโดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสารในเวลาเดียวกันเสมอ และสารที่ถูกส่งออกไปนั้นเป็นได้ทั้ง วจนภาษา (ภาษาที่เป็นถ้อยคำ) และ อวจนภาษา (ภาษาท่าทาง ซึ่งได้แก่ สายตา สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง ระยะห่างและสัมผัสต่างๆ ฯลฯ)  ความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในขณะที่เราเป็นผู้ฟัง เราก็ยังเป็นผู้ส่งสารออกไปด้วยซึ่งก็คืออวจนภาษาต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อเราเป็นผู้พูด  เราก็จะรับสารจากผู้ฟังด้วยเช่นกันว่าเขามีการตอบสนองอย่างไร  ด้วยความเข้าใจในหลักการนี้เอง จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีทั้งในฐานะผู้รับและผู้ส่งสาร (ทั้งที่เป็นคำพูดและกริยาท่าทาง) แต่ความเป็นจริง--อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะแม้เราจะเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ดี แต่หลายครั้งการส่งและรับสารนั้นต้องล้มเหลว  สาเหตุเพราะถูกอารมณ์และความรู้สึกต่างๆเข้ามาสอดแทรกกลางทาง  ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  ต่อต้าน-โต้เถียงและบางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันในที่สุด    การพยายามรู้ลมหายใจขณะพูดหรือฟัง หรือการใช้ ‘สติในการสื่อสาร’ จึงเป็นวิธีการของผู้ที่ฝึกจิตสม่ำเสมอเลือกนำมาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างได้ผล

          มีศัพท์ที่น่าสนใจอยู่2คำเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือคำว่า‘ภาษาฉัน’(I-Message) และ‘ภาษาแก’(YOU-Message) ในทางจิตวิทยาพบว่าการใช้‘ภาษาฉัน’เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกหรือความต้องการ จะทำให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพขึ้น ช่วยสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้ง  ต่างกับการสื่อสารที่ใช้‘ภาษาแก’ที่แสดงออกในเชิงตำหนิ สั่งสอนหรือบ่นว่าซึ่งบ่อยครั้งสร้างผลลัพธ์ในทางตรงข้าม  
 
“ทำไม เธอถึงมาสายอีกแล้ว!”  กับ “ฉันเป็นห่วงที่เธอมาสาย มีอะไรรึเปล่า”
….คือตัวอย่างของการใช้ ‘ภาษาแก’และ'ภาษาฉัน’ ซึ่งน่าจะช่วยเสริมคำอธิบายในย่อหน้านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

     
          ในโลกของการสื่อสาร   แม้คนเราจะชอบฟังความจริง…แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความจริงได้  มีข้อคิดที่น่าสนใจจากโสเครติสว่า ก่อนที่แต่ละคนจะพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปนั้น  ควรนึกถึงตัวกรอง 3 อย่างก่อนคือ 1. ความจริง 2.สิ่งที่ดี  และ 3. เป็นประโยชน์   ทั้งนี้เพราะบางคำพูดนั้นอาจทำลายหรือทำร้ายคนอื่นได้แม้จะเป็น 'ความจริง’  ขณะที่บางสถานการณ์เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดออกไปหากพูดแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น    อย่างไรก็ตาม--จะพบความแตกต่างในทางที่ดีขึ้นเสมอหากการสื่อสารแต่ละครั้งนั้นมีสติกำกับอยู่ด้วย เพราะสติจะสร้างวิธีสื่อสารที่มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ   ยิ่งไปกว่านั้น--เมื่อมีสติ  เราจะพบเองว่า 'การปล่อยวาง'นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง

     
          เมื่อคนหนึ่งคน…มีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ   บางครั้งคนหนึ่งคนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย  และคนๆเดียวกันนี้อีกเช่นกัน…ยังสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นให้รื่นรมย์ขึ้นได้  สิ่งที่ไม่ควรลืมถามตัวเองก็คือ จำเป็นหรือไม่...ที่ต้องให้ผู้อื่นเป็นผู้เริ่มก่อน  ในเมื่อหนทางหรือจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นพื้นฐานจริงๆนั้น  อยู่ที่จิตใจของตัวเราเอง

“หลักสูตรMIO” ....การผสมผสานการพัฒนาจิตกับการใช้ชีวิต

15127

          หากการใช้ชีวิต เปรียบเสมือนการว่ายน้ำ อยากถามว่าเป้าหมายที่คุณต้องการสำหรับการฝึกหัดว่ายน้ำนั้นคืออะไร?
          สำหรับผู้ที่กำลังฝึกว่ายน้ำอยู่  เมื่อคุณตกน้ำคุณอาจไม่รอด เพราะคุณยังว่ายน้ำไม่เป็น  หากคุณว่ายน้ำเป็นแล้วคุณอาจรอด แต่คำถามที่น่าสนใจและชวนให้คิดต่อก็คือ แล้วมีความแตกต่างอย่างไร…ระหว่างว่ายน้ำเป็นกับว่ายน้ำเก่ง?  
        
        คำตอบของคำถามนี้อยู่ในคำอธิบายของย่อหน้าถัดไป….

         ในหลักสูตรMIO หรือโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสตินั้น ได้มีการอธิบายความหมายของการพัฒนาจิตได้อย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า ระดับของสตินั้นมีอยู่ 3 ความหมาย  ระดับแรกคือ สติในฐานะการฝึกปฏิบัติ (Mindfulness as  PRACTICES ) ระดับถัดมาคือ สติในฐานะที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติหรือเป็นสภาวะจิต (Mindfulness as  STATE )และระดับสุดท้าย สติที่เป็นบุคลิกภาพหรือการที่ได้พัฒนาสติจนกลายเป็นคุณลักษณะทางจิตใจประจำตน (Mindfulness as  TRAIT )  ซึ่งสติทั้ง 3 ความหมายนี้ควรฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่อง จาก PRACTICES ไปยัง STATE และจากSTATEพัฒนาต่อไปจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายคือTRAITในที่สุด   เมื่อใดก็ตามที่ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องการฝึกสติจนชำนาญหรือฝึกจนอยู่ในความหมายของTRAITแล้ว  เขาเหล่านั้นก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกทั้งที่วุ่นวายและไม่วุ่นวายได้อย่างสงบ เกิดสภาวะจิตใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นคือ  ปล่อยวางเป็น  ซึ่งหากย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับการว่ายน้ำตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น  นั่นเท่ากับว่า  คุณสามารถเป็นอีกหนึ่งคน…ที่ผ่านการฝึกหัดจนสามารถว่ายน้ำเป็นและยังคงฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งคือผู้ที่ว่ายน้ำเก่งในที่สุด   ความหมายของการว่ายน้ำเก่ง…จึงหมายถึงการที่คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้เหมือนกับการอยู่บนบก เพราะคุณอยู่กับมันอย่างชำนาญและสามารถผนวกจนเป็นส่วนเดียวกับวิถีชีวิตได้นั่นเอง  

          มีข้อกำหนดสำคัญของโครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กรภายใต้การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตและการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ไว้ว่า  องค์กรต้นแบบที่เข้าร่วมนั้น ต้องมีการนำหลักสูตรMIOนี้เข้าไปใช้ให้เกิดเป็น”วิถีขององค์กร”จริงๆ  ซึ่งความหมายของการเป็นวิถีก็คือ การใช้สติเป็นMeta Skill หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพในทุกภาคส่วนของการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันในที่ทำงานนั้น   โดยเริ่มต้นที่ตนเอง เชื่อมโยงมายังการทำงานร่วมกันเป็นทีม   และนำไปสู่การสร้างค่านิยมในการทำงานร่วมกัน พัฒนาค่านิยมนั้นจนเป็นพันธกิจขององค์กรขึ้น……ตนเอง-ทีม-องค์กร จึงเปรียบเสมือนกับเก้าอี้ 3 ขา คํ้าจุนซึ่งกันและกัน เมื่อขาดตัวใดตัวหนึ่งไปก็ยากที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ตามเป้าหมายขององค์กรขึ้นได้
            
          และด้วยเพราะหลักสูตรMIOนี้ไม่ใช่เพียงการจัดอบรมเท่านั้น แต่เป็นการประสานการฝึกอบรมเข้ากับการจัดระบบการทำงานขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ ทำให้ความสุขของคนทำงานและความสำเร็จขององค์กรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน  แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมโครงการจึงต้องมีการปรับปรุงระบบการทำงานควบคู่กันไปและต้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนด้วยเช่นกัน    ตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ  การทำสมาธิก่อนและหลังเลิกงาน  การเปิดระฆังสติเพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างมีสติ  การจัดกติกาการการประชุมใหม่ให้มีการทำสมาธิก่อนการประชุม การสนทนาอย่างมีสติและการสรุปการประชุมด้วยความคิดทางบวก  เป็นต้น
            
          โดยปกติแล้ว เมื่อเราพูดถึงการฝึกฝนจิตให้สงบด้วยสติและสมาธินั้น  หลายคนมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องยาก  แต่สิ่งที่เราลืมพิจารณาก็คือความยากที่แท้จริงนั้น… คือการทำให้สิ่งนี้‘อยู่’และ’เป็น’ในวิถีชีวิตประจำวันของเราให้ได้   เหตุผลเพราะสภาวะจิตที่มีคุณภาพนี้มักถูกรบกวนจากความเครียด  ภาระงานหรือความรับผิดชอบต่างๆตลอดจนการกระตุ้นค่านิยมทางวัตถุที่คอยชักจูงใจให้หันเหออกไปสนใจสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา  การฝึกฝนจิตในที่ทำงานจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน

          หลักสูตรMIO จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์และเพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคนหมู่มากที่ต้องใช้เวลาชีวิตครึ่งหนึ่งในแต่ละวันกับการทำงาน และหากเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่มีคุณภาพ  คือเวลาที่ทุกคนได้พัฒนาจิตไปพร้อมๆกับการทำงานในองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ด้วยแล้ว   นั่นย่อมแปลว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตคนเหล่านั้น  คือโอกาสที่จะได้พัฒนาศักยภาพเพื่อค้นพบคุณค่า’ด้านใน’ของตนเอง  พัฒนาความสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

          …..ที่สำคัญ เป็นความสุขที่ยั่งยืนซึ่งสามารถขับเคลื่อนจากหน่วยเล็กๆคือตัวเรา องค์กรของเราแล้วแผ่ขยายเกื้อกูลออกไปสู่สังคมรอบข้างได้อย่างน่าอัศจรรย์

Publish modules to the "offcanvs" position.