นับจากวันที่วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป ผู้คนเกินกว่าครึ่งต่างใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานในหน่วยงานหรือองค์กรที่ตนสังกัด สถาบันองค์กรจึงถือเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในสังคมหรือแม้แต่ในโลกด้วยซ้ำ การทำให้องค์กรต่างๆกลายเป็นองค์กรคุณภาพจึงหมายถึงการทำให้สังคมส่วนใหญ่มีคุณภาพตามไปด้วย แต่คำถามที่น่าสนใจมากก็คือ “องค์กรที่มีคุณภาพ” นั้น ควรมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนทุกวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าการมีผลผลิตสูงขึ้น หรือขนาดขององค์กรที่ขยายใหญ่โตมากขึ้นนั้น ไม่สามารถใช้เป็นมาตรวัดของคำว่า ”องค์กรที่มีคุณภาพ” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก เหตุผลเพราะองค์กรที่มีคุณภาพและมีการพัฒนาอย่างแท้จริงนั้น ควรเป็นชุมชนที่มีความหมาย มีความเข้มแข็งมั่นคงในตัวเองขณะเดียวกันก็สามารถเกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่นไปพร้อมๆกันได้ด้วย แต่สภาพความจริงที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่เช่นนั้น หลายองค์กรได้ทำให้ขอบเขตของคำว่า ‘work’ และ ‘life’ ของคนทำงานส่วนใหญ่‘เบลอ’ไปด้วยระบบการทำงานที่มุ่งเน้นเพียงความก้าวหน้าและผลตอบแทนเพื่อตอบสนองความคาดหวังที่สูงขึ้นด้วยการแข่งขัน ความรีบเร่ง และความรวดเร็วที่ต้องใช้ ทั้งหมดนี้…เราจึงเห็นภาพชินตาของคนทำงานในองค์กรใหญ่ๆ มากมาย…ที่ดูดีเพียงภาพลักษณ์ภายนอกแต่ในใจนั้นไร้ความสุข--สวนทางกับความสำเร็จหรือความก้าวหน้าขององค์กรนั้นๆ
โครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร หรือเรียกสั้นๆว่าโครงการMIO (Mindfulness in Organization) ภายใต้การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตและการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จึงเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างและผลักดันให้เกิด “องค์กรต้นแบบ” ขึ้นภายใต้ความเชื่อมั่นในคุณค่าและพลังของสติและสมาธิหรือ Mindfulness ว่าจะสามารถเข้าไปปรับระบบและสร้างวิถีการทำงานใหม่ๆ ขึ้นในองค์กรได้ ซึ่งการทำงานแบบใหม่ที่ว่านี้ จะเริ่มต้นด้วยการกลับมาพัฒนาใจของตนเอง(คนทำงาน)ให้เข้มแข็งก่อน(Search inside yourself) เมื่อใจได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว พวกเขาก็จะสามารถผนวกเรื่องของสติและสมาธิให้เป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีการทำงานของตนเอง ทีมและองค์กรได้ในที่สุด ….ชีวิตจริงและชีวิตการทำงานก็จะผสานกลมกลืน ทำให้ความสำเร็จขององค์กรและความสุขที่ยั่งยืนของคนทำงานในทุกระดับชั้น เป็นสิ่งที่สามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้
ปัจจุบันโครงการ MIO ได้เริ่มดำเนินงานไประยะหนึ่งแล้ว และเป็นเรื่องน่ายินดีที่การสร้าง “องค์กรต้นแบบ” ครั้งนี้นั้นจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้เราแตกต่างจากประเทศอื่นๆก็คือ องค์กรต้นแบบเหล่านี้จะนำเรื่องของสติและสมาธิมาใช้จนเกิดเป็นวิถีและวัฒนธรรมขององค์กรได้จริง ไม่ใช่เพียงการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลหรือเป็นแค่การจัดฝึกอบรมในองค์กรเพียงเท่านั้น แต่จะออกแบบและวางระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร สร้างจนเกิดเป็นคุณค่าร่วมและเสริมพลังเพื่อพัฒนาต่อให้คุณค่าความดีงามนี้เติบโตงอกงามและขยายออกไปสู่สังคมรอบข้างที่เกี่ยวข้อง
“คุ ณ ค่ า ข อ ง MIO คื อ ก า ร ส ร้ า ง ค ว า ม เ ป ลี่ ย น แ ป ล ง
ที่ แ ท้ จ ริ ง ….คื อ ก า ร ล ง ทุ น ไ ม่ ใ ช่ ค่ าใ ช้ จ่ า ย”
การจะสร้าง“องค์กรต้นแบบ”ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงนั้น เป็นสิ่งท้าทายและสวนกระแสอย่างมากในสังคมปัจจุบัน มันจึงไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญแต่ต้องเกิดขึ้นจากองค์กรที่มีศักยภาพและมีผู้นำองค์กรที่เชื่อมั่นในคุณค่าของความดีงาม เชื่อมั่นในเรื่องของการพัฒนาใจ ประกอบกับพลังในการบริหารจัดการที่ดีถึงจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงจาก ’องค์กรที่มีศักยภาพ’ ไปสู่การเป็น ’องค์กรต้นแบบ’…ที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร เกิดประสิทธิผลและข้อค้นพบทางวิชาการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรอื่นๆที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเอง พัฒนาความดีงามให้เกิดขึ้น สร้างสังคมที่รื่นรมย์และมีคุณภาพในที่สุด
สำหรับองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ MIO ครั้งนี้ มีความหลากหลายของประเภทองค์กรและกระจายตามภาคต่างๆ ซึ่งได้แก่ โรงเรียน จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาล/สถานบริการภาครัฐ จำนวน 9 แห่ง องค์กรธุรกิจเอกชน จำนวน 7 แห่ง สถานที่ทำงาน จำนวน 3 แห่ง และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 24 องค์กร
ณ วันนี้ ทั้ง 24 องค์กรดังที่กล่าวมา ต่างกำลังเดินหน้าเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็น ’องค์กรต้นแบบ’ ….เป็นต้นกล้าที่จะทำให้พลังของ MIO นี้งอกงามและเติบโตอย่างยั่งยืนในสังคมไทย