หาก‘ความสุข’ของชีวิต ถูกพูดถึงในความหมายที่ไม่ตื้นเขิน ทุกคนย่อมเข้าใจตรงกันได้ว่า สภาวะจิตใจภายในของบุคคลย่อมมีผลมากกว่าสภาวะภายนอก ดังนั้นการที่คนเราจะเข้าถึงความสุขได้มากหรือน้อยจึงมาจากการฝึกฝนจิตใจของเขาเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่างๆที่เกิดขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการพัฒนาความสามารถในการค้นพบความสุขด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องมือเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นสากลและกำลังเป็นกระแสโลกอยู่ในขณะนี้ก็คือการพัฒนาจิตหรือMindfulnessโดยใช้การฝึกผ่านเทคนิคการรับรู้ลมหายใจ
นับเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่องค์ความรู้เรื่องการพัฒนาจิตหรือMindfulnessในประเทศไทยซึ่งหยั่งรากลึก ทำให้เราสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสติกับสมาธิได้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้ประโยชน์จากทั้งสองสิ่งจึงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เมื่อพิจารณาจากหลักการหรือกลไกตลอดจนเทคนิคต่างๆผ่านประสบการณ์จริงของการฝึกจะพบว่า สมาธิเป็นสภาวะที่จิตพักแต่เป็นการพักโดยรู้ตัวตลอดในขณะที่สติเป็นสภาวะที่จิตทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสภาวะที่แตกต่างกัน กลไกหรือวิธีการใช้ก็คนละแบบ โดยกลไกของสมาธิคือ…รู้ลมหายใจทั้งหมดเพื่อให้ความคิดหยุด ขณะที่กลไกของสติคือ…รู้ลมหายใจเพียงเล็กน้อย ให้ลมหายใจเป็นปัจจุบันและรู้ในกิจที่ทำทั้งกิจภายนอกและภายใน ซึ่งสองสภาวะนี้ต่างเกื้อกูลกัน กล่าวคือเมื่อจิตออกจากสมาธิแล้วย่อมมีสติได้ง่ายในขณะที่การฝึกสติเป็นประจำก็จะช่วยให้ฝึกสมาธิได้โดยไม่ลำบาก
เมื่ออ้างอิงผลลัพธ์ที่ได้เป็นรูปธรรม ชีวิตเราจะค้นพบความหมายของเรื่องใกล้ตัวหลายๆเรื่องและแน่นอนมีความสุขมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กินอย่างมีสติจะทำให้ไม่อ้วน ช็อปปิ้งอย่างมีสติจะทำให้เราใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง การมีสติจะช่วยให้เราออกกำลังกายหรือทำเรื่องยากๆได้อย่างรื่นรมย์ขึ้น เหนือสิ่งใด--การเรียนรู้เรื่องสติจะช่วยพัฒนาเราให้สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและที่สำคัญมีความคิดเป็นบวกมากขึ้นกว่าเดิม
สังคมมนุษย์ถือเป็นสนามทดสอบสำคัญสำหรับจิตใจ การฝึกสติและสมาธินี้จะช่วยเปิดใจของผู้ฝึกนั้นให้กว้างขวางสู่ความสุขอันแท้จริงในใจตนเองซึ่งเป็นความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข สงบและสมดุล มีความรัก ความเมตตา อคติลดลง เป็นจิตที่มีแรงบันดาลใจและมีความสร้างสรรค์
มากกว่าการเป็นpersonal skillหรือทักษะส่วนตัว ใช่หรือไม่ว่า…จิตที่มีคุณภาพ ย่อมทำให้พวกเขาเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับการทำงานได้ดีด้วยเช่นกัน ดังที่เราทราบว่ากว่าครึ่งชีวิตของผู้คนยุคนี้อยู่กับ‘งาน’ ดังนั้นหากบรรยากาศหรือภาพรวมของการทำงานนั้นเป็นที่มาของความเครียดและความคับข้องใจ นั่นเท่ากับว่า เราได้ทำชีวิตหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง เมื่อ ‘งาน’กับ ‘ชีวิต’ไม่อาจแยกจากกันได้ โครงการ MIO (Mindfulness in Organization)หรือโครงการพัฒนาองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร จึงนำเรื่องสติและสมาธิมาใช้เป็นแกนหลักของหลักสูตรในการออกแบบ'วิถีการทำงาน'ในองค์กรต้นแบบขึ้นเพื่อให้ทุกวันของการทำงานเป็นการได้พัฒนาจิตไปพร้อมๆกัน คนทำงานมีความสุข ลดความเครียด เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อที่สุดท้ายพบคำตอบว่างานเป็นสิ่งเติมเต็มชีวิตจริงๆ
พนักงานทุกคนคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด องค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา'ศักยภาพด้านใน'ของบุคลากรย่อมช่วยให้เขาหรือเธอเหล่านั้นสามารถปลดปล่อยพลัง(passion)และศักยภาพ(potentials)ภายในตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่แล้วเชื่อมโยงพลังเหล่านั้นสร้างทีมงานที่แข็งแรงเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ซึ่งไปไกลกว่าความอยู่รอดและผลกำไร สติและสมาธิจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ความสุขในระดับปัจเจกเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังมีพลังมากพอที่จะสร้างความสุขในระดับองค์กรและขยายต่อเนื่องไปสู่สังคมโลกในที่สุด