คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (1)

8563

          มีคำคมประโยคหนึ่งกล่าวไว้ว่า “คนฉลาด…ไม่ใช่ผู้ชนะการโต้แย้ง แต่คนฉลาดคือ ผู้ที่ออกห่างจากการโต้แย้งตั้งแต่เริ่มต้น” น่าสนใจว่า อะไร?
คือเครื่องมือที่ถูกหยิบมาใช้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวของผู้ฉลาดที่ว่านี้

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเครื่องมือสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของการอยู่ร่วมกันระหว่างพวกเราก็คือการสื่อสาร  ด้วยเพราะองค์ประกอบสำคัญบางอย่างภายในสมอง ทำให้มนุษย์มี ‘ต้นทุนพิเศษ’ ที่แตกต่างจากสัตว์อื่นๆในโลก  สิ่งนั้นคือความสามารถในการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาจิตหรือการฝึกสมาธิและสตินั่นเอง หากต้นทุนดังกล่าวนี้ถูกนำไปผนวกเข้ากับทักษะการดำรงชีวิตในด้านต่างๆแล้ว ก็จะยิ่งเติมเต็มคุณภาพในการทำงาน ช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพและความสุขในการดำเนินชีวิตได้  

       
          โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงหลักพื้นฐานของการสื่อสาร จะพบว่าทุกคนเป็นคู่สื่อสารโดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสารในเวลาเดียวกันเสมอ และสารที่ถูกส่งออกไปนั้นเป็นได้ทั้ง วจนภาษา (ภาษาที่เป็นถ้อยคำ) และ อวจนภาษา (ภาษาท่าทาง ซึ่งได้แก่ สายตา สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง ระยะห่างและสัมผัสต่างๆ ฯลฯ)  ความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในขณะที่เราเป็นผู้ฟัง เราก็ยังเป็นผู้ส่งสารออกไปด้วยซึ่งก็คืออวจนภาษาต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อเราเป็นผู้พูด  เราก็จะรับสารจากผู้ฟังด้วยเช่นกันว่าเขามีการตอบสนองอย่างไร  ด้วยความเข้าใจในหลักการนี้เอง จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีทั้งในฐานะผู้รับและผู้ส่งสาร (ทั้งที่เป็นคำพูดและกริยาท่าทาง) แต่ความเป็นจริง--อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะแม้เราจะเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ดี แต่หลายครั้งการส่งและรับสารนั้นต้องล้มเหลว  สาเหตุเพราะถูกอารมณ์และความรู้สึกต่างๆเข้ามาสอดแทรกกลางทาง  ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  ต่อต้าน-โต้เถียงและบางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันในที่สุด    การพยายามรู้ลมหายใจขณะพูดหรือฟัง หรือการใช้ ‘สติในการสื่อสาร’ จึงเป็นวิธีการของผู้ที่ฝึกจิตสม่ำเสมอเลือกนำมาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างได้ผล

          มีศัพท์ที่น่าสนใจอยู่2คำเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือคำว่า‘ภาษาฉัน’(I-Message) และ‘ภาษาแก’(YOU-Message) ในทางจิตวิทยาพบว่าการใช้‘ภาษาฉัน’เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกหรือความต้องการ จะทำให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพขึ้น ช่วยสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้ง  ต่างกับการสื่อสารที่ใช้‘ภาษาแก’ที่แสดงออกในเชิงตำหนิ สั่งสอนหรือบ่นว่าซึ่งบ่อยครั้งสร้างผลลัพธ์ในทางตรงข้าม  
 
“ทำไม เธอถึงมาสายอีกแล้ว!”  กับ “ฉันเป็นห่วงที่เธอมาสาย มีอะไรรึเปล่า”
….คือตัวอย่างของการใช้ ‘ภาษาแก’และ'ภาษาฉัน’ ซึ่งน่าจะช่วยเสริมคำอธิบายในย่อหน้านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

     
          ในโลกของการสื่อสาร   แม้คนเราจะชอบฟังความจริง…แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความจริงได้  มีข้อคิดที่น่าสนใจจากโสเครติสว่า ก่อนที่แต่ละคนจะพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปนั้น  ควรนึกถึงตัวกรอง 3 อย่างก่อนคือ 1. ความจริง 2.สิ่งที่ดี  และ 3. เป็นประโยชน์   ทั้งนี้เพราะบางคำพูดนั้นอาจทำลายหรือทำร้ายคนอื่นได้แม้จะเป็น 'ความจริง’  ขณะที่บางสถานการณ์เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดออกไปหากพูดแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น    อย่างไรก็ตาม--จะพบความแตกต่างในทางที่ดีขึ้นเสมอหากการสื่อสารแต่ละครั้งนั้นมีสติกำกับอยู่ด้วย เพราะสติจะสร้างวิธีสื่อสารที่มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ   ยิ่งไปกว่านั้น--เมื่อมีสติ  เราจะพบเองว่า 'การปล่อยวาง'นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง

     
          เมื่อคนหนึ่งคน…มีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ   บางครั้งคนหนึ่งคนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย  และคนๆเดียวกันนี้อีกเช่นกัน…ยังสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นให้รื่นรมย์ขึ้นได้  สิ่งที่ไม่ควรลืมถามตัวเองก็คือ จำเป็นหรือไม่...ที่ต้องให้ผู้อื่นเป็นผู้เริ่มก่อน  ในเมื่อหนทางหรือจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นพื้นฐานจริงๆนั้น  อยู่ที่จิตใจของตัวเราเอง


พิมพ์