คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (2)

21080

“เ ร า ทุ ก ค น ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ พู ด
แ ต่ สิ่ ง ที่ ต้ อ ง ก า ร ม า ก ก ว่ า นั้ น
คื อ  ต้ อ ง ก า ร ค น ฟั ง”

          ว่ากันว่า…สิ่งสวยงามที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์คือการยอมรับและรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่นักจิตวิทยาบอกไว้ว่าหลักพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ข้อหนึ่งคือความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ และ'การฟัง’ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยกย่องหรือการให้เกียรติที่แต่ละคนสามารถแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้  ซึ่งคุณลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจิตใจของมนุษย์ได้รับการพัฒนาหรือยกระดับให้สูงขึ้น   ใจที่เปิดกว้างเพื่อรับฟังผู้อื่น…จึงเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งซึ่งสำคัญมากในการสื่อสาร

          แต่ในบรรดาทักษะทั้งหลายที่มีของคนเรา การฟังกลับคือตัวเชื่อมที่อ่อนที่สุดในระบบการสื่อสาร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีความไม่สมดุลเกิดขึ้นระหว่างความเร็วของการพูด (ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ในอัตรา125คำ/นาที) กับความเร็วของการฟังและการคิดตาม(ซึ่งอัตราอยู่ที่500คำ/นาที) .…นั่นหมายถึงมนุษย์เราสามารถฟังและทำความเข้าใจได้เร็วกว่าพูดถึง4เท่า  ช่องว่างตรงนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ฟังมีเวลาว่างระหว่างรอผู้พูด เป็นเหตุให้สมองหันเหความสนใจไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ ใจลอย เสียสมาธิ เก็บประเด็นไม่ครบถ้วนส่งผลให้เกิดความล้มเหลวที่จะฟังอย่างมีประสิทธิภาพตามมา

      

          และเมื่อมองออกมานอกตัว ปัญหาหลักในสังคมปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจาก"การไม่ฟังกัน" …ภายในครอบครัว พ่อแม่ไม่ฟังลูก ลูกไม่ฟังพ่อแม่ สามีภรรยาไม่ฟังกันฯลฯ ภายในชุมชนหรือองค์กร ภายในประเทศ ภายในโลก…ไม่มีใครยอมหยุดเพื่อฟังกัน แม้โลกเราจะล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมาก สามารถพูดคุยสื่อสารกันข้ามทวีปหรือกระทั่งข้ามดวงดาวกันได้แล้ว แต่เหลือเชื่อที่บ่อยครั้ง--คนในสังคมเดียวกันกลับพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่เข้าใจ   ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นละเลยหรือขาดการฝึกฝนในเรื่อง"การฟังอย่างลึกซึ้ง" (Deep Listening) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมากของทุกคนในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


 ...แล้วหลักการของ"การฟังอย่างลึกซึ้ง"หรือDeep Listeningนั้นเป็นอย่างไร ?

คำตอบที่เป็นเทคนิคง่ายๆคือ …//รู้ลมหายใจ....//ฟัง...//ใคร่ครวญ
เป็นการฟังอย่างตั้งใจและฟังเพื่อให้ได้ยิน มีการเฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆผ่านเข้ามากระทบ เป็นการฟังแบบ‘มนุษย์สัมผัสมนุษย์’  โดยละวางภาพลักษณ์ อำนาจ การครอบงำ ไม่ด่วนสรุปหรือวิพากษ์วิจารณ์คำพูด ความคิด และผู้พูด แต่จะฟังเพื่อให้ได้ยินทั้งความหมาย(meaning)ที่แท้จริงที่แต่ละคนต้องการสื่อ และความหมายที่คลี่(unfold)ออก มาจากการสนทนานั้น  ขณะเดียวกันก็‘วาง’ชุดความคิด 2 ลักษณะ คือความคิดโต้แย้งกับความคิดที่จะไปต่อยอดหรือความรู้สึกดีๆที่คนอื่นคิดเหมือนเรา พร้อมตระหนักถึงจุดยืนอื่นและการเข้าถึงได้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม—แม้ดูแล้วเหมือนไม่ใช่เรื่องยากแต่ทักษะต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นนิสัย  ซึ่งการฝึกสมาธิและสติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสนับสนุนให้เกิดทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น


          ในสังคมของการอยู่ร่วม ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เยียวยาความทุกข์ได้ชงัด คือการมีใครสักคนรับฟังอย่างจริงใจ สิ่งที่ดับอาการโกรธได้เด็ดขาด คือการที่อีกฝ่ายหยุดฟัง  และสิ่งที่ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่ คือการที่มีคนฟังเสียงของเขาอย่างตั้งใจ การฟังอย่างลึกซึ้งหรือDeep Listening…จึงเสมือนการเยียวยาทางจิตใจที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นคุณค่าที่เราได้มอบให้กับผู้อื่น องค์กร หรือสังคมที่เราอาศัย แต่สิ่งนอกเหนือไปกว่านั้นคือ คุณค่าที่สะท้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง ซึ่งได้แก่ความสุขสงบภายในใจ การหลุดพ้นจากความขัดแย้ง การด่วนตัดสินผู้อื่น หรือการยึดถือความคิดของตัวเองมากจนเกินไป
    
          ที่สำคัญ—'การฟังเป็น' จะทำให้เราคือ‘ชาที่ยังไม่เต็มถ้วย’ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่วยเปิดการเรียนรู้และสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น…ไม่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับใครหรือที่ใดก็ตาม


พิมพ์